เนื้อหาในบทความนี้ไม่ถูกต้องแม่นยำ โปรดช่วยกันตรวจสอบ และปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพิ่มแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ด้วย
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระบรมนามาภิไธย พระเทียรราชา
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ราชวงศ์ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
รัชกาล 20 ปี
รัชกาลก่อน ขุนวรวงศาธิราช
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระมหินทราธิราช
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ พ.ศ. 2048
สวรรคต พ.ศ. 2111
พระราชบิดา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
พระอัครมเหสี สมเด็จพระสุริโยทัย
พระราชบุตร พระราเมศวร
สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระวิสุทธิกษัตรีย์
พระบรมดิลก
พระเทพกษัตรี
พระแก้วฟ้า
พระศรีเสาวราช
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระนามเดิม พระเทียรราชา) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 15 แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีบุญญาธิการมากเพราะทรงมีช้างเผือกในครอบครองถึง 7 ช้าง จนได้รับการขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก ในรัชกาลนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากคราวขุนวรวงศาธิราช สภาพบ้านเมืองไม่ได้สงบสุขเท่าที่ควร มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะสงครามกับอาณาจักรตองอู
เนื้อหา [ซ่อน]
1 พระราชประวัติ
2 พระราชกรณีกิจที่สำคัญ
3 ราชการสงคราม
3.1 ศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
3.2 สงครามกับเขมร
3.3 สงครามช้างเผือก
3.4 สงครามเสียกรุง
4 ความไม่สงบภายใน
4.1 กบฏพระศรีศิลป์
4.2 กบฏปัตตานี
5 อ้างอิง
6 ดูเพิ่ม
พระราชประวัติ[แก้]
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จพระราชสมภพเมื่อพ.ศ. 2048 พระนามเดิมคือ พระเทียรราชา มีพระฐานันดรศักดิ์เป็น พระเยาวราช สันนิษฐานว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อันประสูติจากสนม และเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระไชยราชาธิราช
ด้านชีวิตครอบครัว ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระสุริโยทัย และมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 5 พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร์ พระสวัสดิราช พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรี นอกจากนี้ยังอาจจะมีพระสนมอีก เพราะปรากฏพระนามพระศรีเสาวราช พระแก้วฟ้า เป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ด้วยในชั้นหลัง
ในรัชสมัยพระยอดฟ้า พระเทียรราชาทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคู่กันกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ต่อมาเพื่อหลบหลีกคความกดดันจากพระนาง จึงได้เสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐาน
เมื่อ พ.ศ. 2091 ขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจขวาและคณะได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อัญเชิญพระเทียรราชา ให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งขุนนางผู้มีความดีความชอบหลายคน
ขุนพิเรนทรเทพ สถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกแล้วพระราชทานพระสวัสดิราช รั้งตำแหน่งพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นพระอัครมเหสี
ขุนอินทรเทพ แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช
หลวงศรียศบ้านลานตาดฟ้า แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยามหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม
หมื่นราชเสน่หา แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยามหาเทพ
หมื่นราชเสน่หานอกราชการ แต่งตั้งเป็นพระยาภักดีนุชิต
พระยาพิชัย แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาพิชัย
พระยาสวรรคโลก แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาสวรรคโลก
พระราชกรณีกิจที่สำคัญ[แก้]
ในระหว่างปี พ.ศ. 2092 - พ.ศ. 2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหาร และเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม ยุทธศาสตร์ในการป้องกันคือ ใช้พระนครเป็นที่มั่น
เมื่อพ.ศ. 2092 ทรงให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยาก่ออิฐถือปูนตามแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ถมดินเป็นเชิงเทินแล้วปักเสาไม้ระเนียดด้านบน
โปรดให้รื้อกำแพงเมืองหน้าด่านชั้นนอกออก 3 เมืองคือ สุพรรณบุรี ลพบุรี และนครนายก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกอาศัยเป็นที่ตั้งมั่น
โปรดให้ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง คาดว่าเริ่มขุดตั้งแต่ศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้างแต่เพิ่งมาเสร็จ
โปรดให้สำรวจบัญชีสำมะโนครัวใหม่ ตามหัวเมืองชั้นในทุกหัวเมือง ทำให้ทราบจำนวนชายฉกรรจ์ที่สามารถทำการรบได้
ทรงตั้งเมืองใหม่ขึ้น 3 เมือง เพื่อให้เป็นที่รวมพลและง่ายต่อการเกณฑ์เข้าพระนคร
ยกตลาดขวัญเป็น เมืองนนทบุรี
ยกบ้านท่าจีนเป็น เมืองสาครบุรี
แบ่งเอาเขตเมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีเป็น เมืองนครชัยศรี
พ.ศ. 2095 โปรดให้แปลงเรือแซ (เรือยาวตีกรรเชียง ใช้คนพาย ประมาณ 20 คน) เป็นเรือชัย (เรือที่มีปืนใหญ่ยิงได้ที่หัวเรือ) และหัวสัตว์ คือการพัฒนาเรือรบนั่นเอง ซึ่งก็คือเรือที่ใช้ในพระราชพิธีปัจจุบัน
โปรดให้จับช้างเข้ามาใช้ในราชการ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก อีกพระนามหนึ่ง
พ.ศ. 2106 สมเด็จพระเจ้าอภัยพุทธบวร ไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีพระราชประสงค์เป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา จึงส่งทูตมาขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาพระองค์เล็กไปเป็นพระชายา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงรับไมตรีแต่ตอนนั้นพระเทพกษัตรีทรงพระประชวร พระองค์จึงส่งพระแก้วฟ้าพระธิดาที่เกิดจากสนมรัตนมณีเนตรไปถวายแทน
เมื่อพระไชยเชษฐาทรงทราบว่าไม่ใช่พระเทพกษัตรีจึงถวายพระแก้วฟ้าคืนใน พ.ศ. 2107 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงส่งพระเทพกษัตรีย์ไปยังล้านช้างแต่พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบเข้าจึงส่งทหารไปชิงตัวพระเทพกษัตรีมา
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ทรงเสียพระทัย จึงเสด็จไปประทับที่วังหลัง ให้พระมหินทร์พระโอรสว่าราชการแทน เมื่อพระชนมายุประมาณ 59 พรรษา ต่อมาได้เสด็จออกผนวชใน พ.ศ. 2109 โดยมีข้าราชการออกบวชด้วยจำนวนมาก
พระมหินทร์ ทรงได้ว่าราชการแทนในช่วงหนึ่ง ต่อมาทรงมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับพระมหาธรรมราชา จนเกิดความร้าวฉานระหว่างพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากพระองค์สมคบพระไชยเชษฐาไปตีเมืองพิษณุโลก จนพระองค์มิอาจรั้งราชการแผ่นดินจึงทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชหลังจากที่ผนวชได้ไม่นาน แล้วกลับมาว่าราชการตามเดิม
พระองค์กับพระมหินทร์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีแล้วนำพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงให้ไปเข้ากับหงสาวดีอย่างเปิดเผย
เมื่อ พ.ศ. 2111 ระหว่างสงครามกับอาณาจักรหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักประมาณ 25 วัน และเสด็จสวรรคตในขณะที่ทัพหงสาวดีปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ รวมพระชนมายุ 64 พรรษา ครองสิริราชสมบัติได้ 20 ปี
ราชการสงคราม[แก้]
ศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้าง[แก้]
ดูบทความหลักที่: สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
สมเด็จพระสุริโยทัย (กลาง) ไสช้างเข้าขวางช้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ขวา) ซึ่งกำลังเสียทีช้างพระเจ้าแปร (ซ้าย) ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (จิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์)
ในปี พ.ศ. 2091 หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้เป็นที่กระฉ่อนไปทั่ว จนทราบไปยังพระกรรณพระเจ้าหงสาวดีพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าทรงพระราชดำริว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังกรุงศรีอยุธยา จึงได้ยกกองทัพใหญ่มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี (บางพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้เสด็จมาทอดพระเนตรกำแพงเมืองอยุธยาก่อนหน้านี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อประเมินกำลังศึก) โดยตั้งค่ายหลวงที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชาบุเรงนองตั้งที่เพนียด ทัพพระเจ้าแปรตั้งที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพะสิม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งวรเชษฐ์
ในวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทร์ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร
ในการต่อสู้กับข้าศึกในขั้นต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้นำปืนใหญ่นารายณ์สังหาร ลงเรือสำเภาแล่นไปตามลำน้ำโจมตีข้าศึกที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ อำนาจการยิงของปืนใหญ่ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายเป็นอันมาก ประกอบกับเป็นเวลาใกล้ฤดูฝน และเสบียงอาหารร่อยหรอลง อีกทั้งทางฝ่ายพม่าได้ข่าวว่า มีกองทัพไทยจากหัวเมืองเหนือยกมาสนับสนุน เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบ จึงปรึกษากับแม่ทัพนายกองจะยกทัพกลับ แม่ทัพทั้งหลายเห็นควรจะยกทัพกลับทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) แต่พระเจ้าตเบ็งชเวตี้เห็นว่าทางที่ยกมานั้น ทรงทำลายเสบียงอาหารเสียหมดแล้ว ถ้ายกไปทางนี้จะประสบปัญหาขาดแคลน และจะถูกทหารไทยยกมาซ้ำเติมลำบากอยู่ จึงทรงให้ยกทัพขึ้นไปทางด่านแม่ละเมา (ตาก) เพื่อตีทัพของพระมหาธรรมราชาด้วยไพร่พลนั้นน้อยนัก และจะได้แย่งเสบียงมา เมื่อปะทะกับกองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร ไล่ติดตามไปจนเกือบถึงเมืองกำแพงเพชร ฝ่ายพม่าได้ทำอุบายซุ่มกำลังไว้ทั้งสองข้างทาง พอกองทัพกรุงศรีอยุธยาถลำเข้าไป จึงได้เข้าล้อมไว้ จับได้ทั้งพระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงขอหย่าศึก และไถ่ตัวคืนโดยแลกกับช้างชนะงาสองเชือกคือ พลายศรีมงคลกับพลายมงคลทวีป จากนั้นกองทัพม่าก็ถอยกลับไปยังหงสาวดี
ส่วนการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยนั้นเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอารามเพื่ออุทิศ พระราชกุศลพระราชทาน แด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามอันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์ ในปัจจุบันชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์
สงครามกับเขมร[แก้]
พ.ศ. 2099 ในเดือน 12 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้แต่งทัพไปตีเมืองละแวก พระยาองค์ (โอง) สวรรคโลก (เชื่อว่าเป็นคนเดียวกับพระยาสวรรคโลกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช) เป็นทัพหลวง ยกทัพ 30,000 ให้พระมหามนตรีถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกวียน ให้พระยาเยาวเป็นแม่ทัพเรือ แต่ลมพัดไม่เป็นใจทัพเรือจึงตามทัพบกไม่ทัน พระยารามลักษณ์แม่ทัพบกได้เข้าตีเขมรในตอนกลางคืน แต่เสียทีถอยหนีมาถึงทัพใหญ่ ในศึกนี้เสียพระยาองค์ (โอง) สวรรคโลกกับไพร่พลอีกจำนวนมาก
สงครามช้างเผือก[แก้]
พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งหงสาวดีต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทราบเรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือกสองช้าง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เหตุผลเชิงปฏิเสธเพราะทรงเห็นด้วยกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงคราม พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. 2106 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร 400 คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยมาตามลำดับเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้ ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาของพระราเมศวร แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดหน้าพระเมรุ กับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือก 4 ช้าง พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามให้แก่พม่า โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี
สงครามเสียกรุง[แก้]
ใน พ.ศ. 2111 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพโดยมีทัพเมืองพิษณุโลกอยู่ด้วย มีกำลังห้าแสนคน เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน โดยมุ่งตีหักเข้ามาทางด้านทิศตะวันออก ซี่งเป็นด้านที่คูเมืองแคบสุด และใช้กำลังทางเรือปิดกั้นลำน้ำทางตอนใต้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยติดต่อกับหัวเมืองทางใต้และต่างประเทศ
ความไม่สงบภายใน[แก้]
กบฏพระศรีศิลป์[แก้]
ประมาณ พ.ศ. 2098 พระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์มีอายุได้ 14 ปี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้บวชเป็นสามเณรอยูที่วัดราชประดิษฐานแต่พระศรีศิลป์กลับวางแผนก่อกบฏและถูกจับได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงไม่ประหารแต่ให้คุมตัวไว้ที่วัดธรรมิกราช
จนถึง พ.ศ. 2104 พระศรีศิลป์มีอายุครบ 20 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ (พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่าตอนนั้นบวชอยูที่วัดมหาธาตุ แต่พระศรีศิลป์หนีไปซุ่มพลอยู่ตำบลม่วงมดแดง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนาบดีไปตาม
ฝ่ายพระศรีศิลป์จึงยกกองทัพมาก่อกบฏ เข้ากรุงศรีอยุธยามาในวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือน 8 วันรุ่งขึ้นพระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ครั้งนั้นได้ แต่พระศรีศิลป์ถูกปืนยิงตายในพระราชวัง ผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อการทั้งหมดถูกนำไปประหารชีวิตเหตุการณ์จึงเข้าสู่ภาวะปกติ
กบฏปัตตานี[แก้]
หลังสงครามช้างเผือก มุซาฟาร์ ชาฮฺ สุลต่านแห่งปัตตานี ยกทัพมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เมื่อกองทัพปัตตานีมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏว่ากองทัพพม่าได้ล่าถอยออกไปแล้ว สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺได้นำกองทัพชาวมลายูเข้าไปพักในกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่พักอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้นได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพมลายูปัตตานีกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาเรื่องกินหมู จึงได้เกิดการสู้รบกันขึ้น สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺ นำกองทัพเข้ายึดพระราชวังได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องเสด็จหนีไปที่เกาะมหาพราหมณ์แล้วจึงรวบรวมกำลังเข้าตีตอบโต้ กองทัพปัตตานีต้องถอยร่นออกมาถึงปากอ่าว สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺ สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับพระศพถูกฝังไว้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าว
อ้างอิง[แก้]
วิชาการ.คอม
หอมรดกไทย
บทความเพื่อความสมานฉันท์ : เกร็ดความรู้จาก “ประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี”
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายประกอบ สำนักงานพิมพ์โอเดียนสโตร์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๐
ไทยรบพม่า เล่ม ๑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักงานพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๔๖
พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๐
ดูเพิ่ม[แก้]
รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทย
ก่อนหน้า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ถัดไป
ขุนวรวงศาธิราช
(พ.ศ. 2091)
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2091 - พ.ศ. 2111)) สมเด็จพระมหินทราธิราช
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2111 - พ.ศ. 2112)
[แสดง] ด พ ก
รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทย
[แสดง] ด พ ก
ลำดับครองราชย์ของพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา เรียงตามปีพุทธศักราช
หมวดหมู่: บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2048บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2111สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
รายการเลือกการนำทาง
ไม่ได้ล็อกอินพูดคุยเรื่องที่เขียนสร้างบัญชีล็อกอินบทความอภิปรายเนื้อหาแก้ไขประวัติ
หน้าหลัก
ถามคำถาม
บทความคัดสรร
บทความคุณภาพ
เหตุการณ์ปัจจุบัน
สุ่มบทความ
มีส่วนร่วม
เกี่ยวกับวิกิพีเดีย
ศาลาประชาคม
ปรับปรุงล่าสุด
ติดต่อวิกิพีเดีย
บริจาคให้วิกิพีเดีย
วิธีใช้
เครื่องมือ
หน้าที่ลิงก์มา
การปรับปรุงที่เกี่ยวโยง
อัปโหลดไฟล์
หน้าพิเศษ
ลิงก์ถาวร
สารสนเทศหน้า
Wikidata item
อ้างอิงบทความนี้
พิมพ์/ส่งออก
สร้างหนังสือ
ดาวน์โหลดเป็น PDF
รุ่นพร้อมพิมพ์
ภาษาอื่น
Deutsch
English
Bahasa Indonesia
Italiano
日本語
ភាសាខ្មែរ
Yorùbá
แก้ไขลิงก์
หน้านี้แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 เวลา 08:40 น.
อนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน และอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ดูรายละเอียดที่ ข้อกำหนดการใช้งาน
Wikipedia® เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงผลกำไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น