วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประวัติ พระนางสุพรรณกัลยา

พระสุพรรณกัลยา สุวรรณกัลยา หรือ สุวรรณเทวี เป็นพระราชธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และเป็นพระพี่นางใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เชื่อว่าพระนามเดิม คือ องค์ทอง[1]
ชีวิตในกรุงหงสาวดี พระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระนางปรากฏในพงศาวดารพม่าระบุว่า ในปี พ.ศ. 2112 เจ้าฟ้าสองแคว (พระอิสริยยศของพระมหาธรรมราชาเมื่อครั้งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองให้ขึ้นครองพิษณุโลก) ได้ถวายพระธิดาชื่อ สุวรรณกัลยา พระชันษา 17 ปี กับบริวารและนางสนมรวม 15 คนแก่พระเจ้าบุเรงนอง[2] โดยพระองค์ได้สถาปนาเป็นพระมเหสี มีพระตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องใช้สิ่งของ ข้าราชบริวารที่เป็นชาวไทยทั้งหมด เมื่อจะเสด็จไปยังที่ใด จะโดยเสลี่ยงหรือพระที่นั่งหรือพระพาหนะใดก็ตาม จะมีเจ้าพนักงานกางฉัตรถวาย และพระองค์ทรงอยู่อย่างเกษมสำราญ[3][4]
พระนางมีพระธิดา 1 พระองค์กับพระเจ้าบุเรงนอง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้าภุ้นชิ่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่โดยมากจะรู้จักกันในพระนาม เมงอทเว ในพระราชพงศาวดารพม่าได้บันทึกว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก[5]โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี
ด้วยเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระสุพรรณกัลยารวมทั้งพระมเหสีองค์อื่นทรงดำเนินชีวิตในพระราชวังตามปกติ โดยมิได้เส็ดจออกงานหรือเห็นโลกภายนอกจนกว่าที่พระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดีจึงจะมีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคมพ.ศ. 2116 มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้เสด็จออกนอกพระราชฐานมานานว่า 3 ปี
หลังจากงานบูชามหาเจดีย์จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ 3,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เนื่องจากทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก[

กรณีการสิ้นพระชนม์[แก้]

ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2124 พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน ภายหลังจากที่พระมหาอุปราชามังกะยอชวาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2135 จากการทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งการสิ้นพระชนม์นั้นในพงศาวดารรวมถึงคำให้การต่างๆ ทั้งของไทยและพม่าต่างก็ให้ข้อมูลต่างกันออกไปเกี่ยวกับการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยา ...หลังจากที่พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ ก็ได้ให้พระสุพรรณกัลยาเป็นมเหสีของตน สันนิษฐานว่าพระเจ้านันทบุเรงรู้สึกแค้นใจที่รบแพ้พระนเรศวร จึงแก้แค้นด้วยการฆ่าพระสุพรรณกัลยา ซึ่งกำลังตั้งท้องอยู่

หลักฐานพงศาวดารของไทย[แก้]

  • คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีพิโรธมาก รับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองที่แพ้กลับมาในครั้งนั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่ก็ยังไม่หายพิโรธ ได้เสด็จไปสู่พระตำหนักพระสุพรรณกัลยาเอาพระแสงดาบฟันพระนางและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ และได้ประมาณการว่ามีพระชนมายุได้ 39 พรรษา
  • คำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวใกล้เคียงกัน แต่ต่างที่เป็นพระราชโอรสมิใช่พระราชธิดา ความว่า "ฝ่ายพระเจ้าหงสา ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐานเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศวรนั้นบรรทมให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ในพระที่ พระเจ้าหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่พิราลัยด้วยกันทั้งสองพระองค์ ด้วยพระเจ้าหงสาวดีทรงโกรธยิ่งนัก มิทันจะผันผ่อนได้"
  • พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ที่แต่งขึ้นโดยพระบรมราชโองการของกษัตริย์พม่าเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2372 (ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์) [8] ได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาว่า พระองค์มีคนสนิทคนหนึ่ง มีนามว่า พระองค์จันทร์ ภายหลังพระอุปราชาสิ้นพระชนม์ในการกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้านันทบุเรงมิได้ประหารพระสุพรรณกัลยาทันทีที่ทราบข่าว หากแต่ได้เสวยน้ำจัณฑ์จนเมามายอยู่เป็นเวลานาน แต่ละวันก็พาลหาเรื่องพระสุพรรณกัลยาและขู่อาฆาตบ่อยๆ จนพระนางสังหรณ์พระทัย ได้ทรงเรียกพระองค์จันทร์มาปรับทุกข์หลายครั้ง ท้ายที่สุดพระองค์ได้ตัดปอยพระเกศาใส่ผอบเครื่องหอมประทานแก่พระองค์จันทร์ เตรียมนำไปถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กรุงศรีอยุธยา เผื่อพระองค์จะไม่มีพระชนม์ชีพต่อไป ต่อมาวันหนึ่งพระเจ้านันทบุเรงทรงเมามายไม่ได้พระสติ ได้เสด็จไปถึงห้องพระบรรทมของพระสุพรรณกัลยาแล้วใช้พระแสงดาบฟันแทงพระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์อยู่บนพระที่นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วได้ระบุว่าพระนางมีพระราชโอรสกับพระเจ้าบุเรงนองหนึ่งพระองค์ และในครรภ์อีก 1 พระองค์ เมื่อพระเจ้านันทบุเรงทรงคืนพระสติแล้ว ก็ได้มีพระราชโองการจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแก่พระสุพรรณกัลยาอย่างสมพระเกียรติ ส่วนพระองค์จันทร์นั้นได้ลักลอบออกจากวังโดยนำผอบพระเกศาไปกับนายทหารมอญโดยทำทีเป็นสามีภรรยากันตลอดเป็นเวลาสามเดือนเศษจนถึงกรุงศรีอยุธยา และได้นำความกราบบังคมทูลแก่พระญาติวงศ์ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ ในครั้งนั้น พระองค์จันทร์ได้รับการสถาปนาเป็น ท้าวจันทร์เทวี หลังจากได้พระราชทานเพลิงพระศพพระวิสุทธิกษัตรีย์ (ซึ่งทางไทยได้กล่าว่าสิ้นพระชนม์เนื่องจากทรงตรอมพระทัยในการสูญเสียพระสุพรรณกัลยา) สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ยกทัพไปตีหงสาวดีและตองอูแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างที่พระองค์ได้รับพระอัฐิพระสุพรรณกัลยาจากมอญผู้หนึ่งในช่วงที่พระองค์ประทับ ณ เมืองปาย ทรงพระสุบินถึงพระสุพรรณกัลยาได้เสด็จมาพบและตรัสว่าพระนางเปรียบเสมือนคนสองแผ่นดิน มีความผูกพันทั้งไทยและพม่า จึงมีพระประสงค์ที่จะพำนักเมืองปายนั่นเอง จากการพระสุบินดังกล่าวสมเด็จพระนเรศวรจึงหยุดทัพไว้ที่เมืองปาย เป็นเวลา 32 วัน และโปรดฯให้ม้าเร็วเข้ามารับตัวท้าวจันทร์เทวีขึ้นไป และนำผอบบรรจุพระเกศาขึ้นไปด้วย จากนั้นก็โปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง และพระเจดีย์เพื่อจะประดิษฐานพระเกศาและพระอัฐิไว้ ณ เมืองปาย ปัจจุบันเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั่นเอง[9]
อย่างไรก็ตามจากหลักฐานของไทยและพม่าก็ต่างแสดงความมีตัวตนของพระสุพรรณกัลยา และประทับอยู่ในหงสาวดีตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2112 ขณะมีพระชันษาได้ 17 ปี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2135 ที่เกิดยุทธหัตถี พระองค์จึงน่าจะมีพระชันษา 40 ปี และหากมีพระโอรส-ธิดากับพระเจ้าบุเรงนอง พระโอรสธิดาก็ควรมีพระชันษาราว 8 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งดูจะขัดแย้งกับคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่กล่าวถึงการ ให้พระโอรสเสวยนมอยู่ในที่..[10] ส่วนกรณีที่ถูกพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรงเช่นเดียวกัน เนื่องจากหากพระเจ้าแผ่นดินจะประหารชีวิตใครก็จะบันทึกเรื่องราวไว้โดยละเอียด แต่ในเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยากลับไม่ปรากฏไว้เลย[10] [11]

หลักฐานที่ขัดแย้งกัน[แก้]

แม้การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งตรงกันทั้งในหลักฐานของไทยและพม่า (บางฉบับ) แต่มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยันพระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น