"ไทย" เปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ไทย (แก้ความกำกวม)
ประเทศไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนและมลายู ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด[ก] แม้จะมีการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยระบบรัฐสภาใน พ.ศ. 2475 แต่กองทัพยังมีบทบาทในการเมืองไทย ล่าสุด เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และประเทศไทยปกครองแบบเผด็จการทหาร
ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร[6] และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 66 ล้านคน[7] กับทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่[8][9][10][11] โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ[12] ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก อาทิ พัทยา, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกอันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ[13] และด้วยจีดีพีของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าราว 334,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ประมาณใน พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 32 ของโลก
ในอาณาเขตประเทศไทย พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี[14] นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อันมีความยิ่งใหญ่กว่า และมีการติดต่อกับชาติตะวันตก อาณาจักรอยุธยามีอายุยืนยาว 417 ปีก็เสื่อมอำนาจและล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนาอาณาจักรธนบุรี เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักร นำไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงต้นกรุงประเทศเผชิญภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาหลายฉบับ และการเสียดินแดนบางส่วน กระนั้น ไทยก็ยังธำรงตนมิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ต่อมาจนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก และไทยได้เข้ากับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนช่วงสงครามเย็น ไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนรัฐบาลทหารในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และแม้ประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนมาสู่ยุครัฐบาลของพลเรือน แต่ความเสถียรภาพของระบบการเมืองการปกครองไทยยังคงขาดความต่อเนื่องอันมีปัญหามาจากการแทรกแซงโดยกองทัพจวบจนปัจจุบัน
เนื้อหา
[ซ่อน]ชื่อเรียก
ดูเพิ่มเติมที่: สยาม
ชาวต่างชาติเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า "สยาม" เมื่อราว พ.ศ. 2000[15] เดิมประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนใน พ.ศ. 2399[16] ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลย[17] ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า ชาวอยุธยาเรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว[18]
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย"[19] ซึ่งจอมพล ป. ต้องการบอกว่าดินแดนนี้เป็นของชาวไทย มิใช่ของเชื้อชาติอื่น ตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น[20] โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488[19] แต่ก็ได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[17] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษมักถูกจำสับสนกับไต้หวันอยู่บ่อย ๆ [21]
ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ดูบทความหลักที่: ภูมิศาสตร์ไทย และ ภูมิอากาศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่กลางคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังอยู่บนคาบสมุทรมลายูด้วย อยู่ระหว่างละติจูด 5° ถึง 21° เหนือ และลองติจูด 97° ถึง 106° ตะวันออก ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 51 ของโลกและอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซียและพม่า
ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดสูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[22] รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งเกิดจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ภาคกลางเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก[23] ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไทย-มลายู[24] ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ
แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำทั้งสองและสาขา อ่าวไทยมีพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร รองรับน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ถือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ นอกจากนี้ อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะมีท่าเรือหลักที่สัตหีบ ถือได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาก ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน
ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 °C และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และพายุหมุนเขตร้อน ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคมเป็นฤดูหนาว ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน[25] ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี แบ่งได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน โดยฝั่งทะเลตะวันออก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน[25]
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคเกษตรกรรม และประเทศไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด[23] พื้นที่ราว 29% ของประเทศเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง[26] ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง[27]) และอีกเกือบ 20% เป็นเขตป่าสงวน[26]ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก[28] ในประเทศไทย พบนก 982 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งมีการบันทึก[29]
ประวัติศาสตร์
ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ไทย
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในอดีต พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศไทยนั้นมีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่า คือ ราว 20,000 ปีที่แล้ว ภูมิภาคดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทางศาสนาจากอินเดีย นับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 1[30] แต่สำหรับรัฐของคนไทยแล้ว ตามตำนานโยนกได้บันทึกว่า การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1400[31]
อาณาจักรสุโขทัย
ดูบทความหลักที่: อาณาจักรสุโขทัย
ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13[32] ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาทิ ชาวไท มอญ เขมรและมาเลย์ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรสุโขทัยมีการปกครองแบบ ปิตุราชา หรือ พ่อปกครองลูก ที่ผู้ปกครองใกล้ชิดกับผู้ใต้ปกครอง อาณาจักรสุโขทัยแผ่ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ประดิษฐ์อักษรไทย แต่เสถียรภาพของอาณาจักรได้อ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ รัชสมัยพญาลิไทมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นธรรมราชา จากการรับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท แบบลังกาวงศ์ อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 มีการปกครองแบบเทวราชา ซึ่งยึดตามหลักของศาสนาพราหมณ์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ทำให้อาณาจักรอยุธยากลายเป็นสังคมศักดินา
การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2054 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้อยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก[33] ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น กระทั่งขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง การสงครามยืดเยื้อนับสิบปีส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูใน พ.ศ. 2112[34] สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง[35]
จากนั้น กรุงศรีอยุธยาได้รุ่งเรืองถึงขีดสุด[36] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสฮอลันดา และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้พระเพทราชาประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน[37] ความขัดแย้งภายในทำให้การติดต่อกับชาติตะวันตกซบเซาลง[38]
อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 การสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2310 ในที่สุด ทว่า ในปีเดียวกัน พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยอยู่ 15 ปี ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยเผชิญกับการรุกรานจากชาติเพื่อนบ้านหลายครั้งจนถึงรัชกาลที่ 4 พระราชนโยบายของพระมหากษัตริย์ในช่วงนี้ คือ การป้องกันตนเองจากมหาอำนาจอาณานิคม แต่ก็ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เทคโนโลยีตะวันตก และการศึกษาอันทันสมัย[39]
การเผชิญลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง อันนำมาสู่การทำสนธิสัญญากับชาติอื่น ๆ ด้วยเงื่อนไขที่คล้ายกัน[40] หากก็นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและการค้าระหว่างประเทศ[41] ต่อมา การคุกคามของจักรวรรดินิยมทำให้สยามยอมยกดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงบทบาทของตนเป็นรัฐกันชนระหว่างเจ้าอาณานิคมทั้งสอง[42] หากแม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากชาติมหาอำนาจ สยามก็ยังสามารถธำรงตนเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ก็ต้องรับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเข้ามาอย่างมาก จนนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นำไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลายเพื่อให้ชาติมีอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กว่าจะเสร็จก็ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[43]
ปฏิวัติ สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น
ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และ สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับขบวนการเสรีไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม
ช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ต่อมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศ การสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุติลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี พ.ศ. 2523[44]
ร่วมสมัย
ดูบทความหลักที่: เหตุการณ์ 14 ตุลา, เหตุการณ์ 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ, วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 และ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการทหารในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังให้มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรก[ต้องการอ้างอิง] ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารกว่าสิบครั้ง อย่างไรก็ดี มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญถึงสองครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงมั่นคงยิ่งขึ้น[ต้องการอ้างอิง]
ช่วงพุทธทศวรรรษ 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่อมา ทักษิณ ชินวัตรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองสมัยติดต่อกัน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด ได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจจนประสบผลหลายอย่าง แต่ก็ตกเป็นที่กล่าวหาอย่างกว้างขวางเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2547 เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มภาคใต้และเริ่มต้นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ใน พ.ศ. 2549 มีรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปใน พ.ศ. 2550 ทำให้ประเทศกลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยอีกครั้ง
วิกฤตการณ์การเมืองนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มมวลชนสองกลุ่ม คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กลุ่มแรกชุมนุมประท้วงรัฐบาลทักษิณ เรื่อยมาถึงรัฐบาลสมัครและสมชาย โดยมีการชุมนุมใหญ่ในห้วง พ.ศ. 2551 ส่วนกลุ่มหลังชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ใน พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปใน พ.ศ. 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง และเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ในปีเดียวกัน เกิดมหาอุทกภัย มีพื้นที่ประสบภัย 65 จังหวัด
ปลาย พ.ศ. 2556 บังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ มีสาเหตุหลักจากสภาผู้แทนราษฎรผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ[45] เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 กองทัพบกประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และอีกสองวันต่อมาได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ
การเมืองการปกครอง
ดูเพิ่มเติมที่: การเมืองไทย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กฎหมายไทย, รัฐบาลไทย และ การเลือกตั้งในประเทศไทย
เดิมประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา มีการปกครองแบบรวมศูนย์เด็ดขาดตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[46]ครั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรปฏิวัติในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งมากที่สุดในทวีปเอเชีย ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูงและมีรัฐประหารหลายครั้ง หลังเปลี่ยนรัฐบาลสำเร็จ รัฐบาลทหารมักยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการเปลี่ยนสมดุลอำนาจฝ่ายการปกครองเรื่อยมา นอกจากนี้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญด้วย[47] ประเทศไทยมีรัฐประหารมากเป็นอันดับ 4 ของโลก[48] และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2558 "คนในเครื่องแบบหรืออดีตทหารนำประเทศไทยเป็นเวลา 55 จาก 83 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชในปี 2475"[49]
ในทางพฤตินัย ปัจจุบันประเทศไทยปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ใน พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ต่อมา มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน ซึ่งในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือใช้ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้
- อำนาจนิติบัญญัติ มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินสองร้อยยี่สิบคน ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ไม่มีระบุวาระ
- อำนาจบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นไม่เกินสามสิบห้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารอำนาจ ไม่มีระบุวาระ นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจและเป็นหัวหน้ารัฐบาล
- อำนาจตุลาการ มีระบบศาล ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เป็นองค์กรบริหารอำนาจ มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประมุขในส่วนของตน
สำหรับราชการส่วนท้องถิ่น มีการแบ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งข้าราชการฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแทบทุกระดับ
เดิมประเทศไทยมีรัฐสภา ซึ่งใช้ระบบสภาคู่ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นสภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 375 คน แบบสัดส่วน 125 คน มีวาระ 4 ปี วุฒิสภามีสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน มีวาระ 6 ปี นายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน นายกรัฐมนตรีมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร
ระบบพรรคการเมืองของไทยเป็นแบบหลายพรรค นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ก็มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารหลายคน หลัง พ.ศ. 2544 มีพรรคการเมืองครอบงำสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเปลี่ยนมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยตามลำดับ และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งตั้งแต่ปีนั้น พรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
การแบ่งเขตการปกครอง
ดูบทความหลักที่: การแบ่งเขตการปกครองของประเทศไทย และ จังหวัดในประเทศไทย
ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็น (1) ราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง, ทบวง และกรม (2) ราชการส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล[51] และ (3) ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ใน พ.ศ. 2458 ประเทศสยามแบ่งการปกครองเป็น 72 จังหวัด หลัง พ.ศ. 2476 จังหวัดกลายเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคระดับสูงสุด หลังยุบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2514 มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นเขตการปกครองแบบพิเศษชื่อ "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงเทพมหานคร" ใน พ.ศ. 2515 ปีเดียวกัน มีการแยกจังหวัดอุบลราชธานีจัดตั้งเป็นจังหวัดยโสธร พ.ศ. 2520 มีการแบ่งจังหวัดเชียงรายจัดตั้งเป็นจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2525 มีการแบ่งจังหวัดนครพนมตั้งเป็นจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. 2536 มีการแยกจังหวัดอุดรธานีจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู, จังหวัดปราจีนบุรีจัดตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดอุบลราชธานีจัดตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดล่าสุดของประเทศไทย คือ จังหวัดบึงกาฬซึ่งแยกจากจังหวัดหนองคายใน พ.ศ. 2554
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร
ดูบทความหลักที่: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย และ กองทัพไทย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศและองค์การท้องถิ่น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และยังได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมือง และด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้ความร่วมมือกับองค์การท้องถิ่น อาทิ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป[52] นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก[53], บุรุนดี[54] และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน[55]
พระมหากษัตริย์ไทยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยนิตินัย ซึ่งปัจจุบันคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แต่ในทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สั่งการ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีผู้บัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้บัญชาการ กองทัพไทยแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ทุกวันนี้กองทัพไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้น 1,025,640 นาย และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย[56]เมื่อ พ.ศ. 2553 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 154,032,478,600 บาท[57] ใน พ.ศ. 2554 สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มรายงานว่า รายจ่ายทางทหารของไทยคิดเป็น 168,000 ล้านบาท[58] ใน พ.ศ. 2557 เว็บไซต์โกลบอลไฟเออร์พาวเวอร์ (GlobalFirepower) จัดอันดับความแข็งแกร่งของกองทัพไทยอยู่อันดับที่ 24 ของโลก (จาก 106 ประเทศ) [59]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่าการป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน[60] ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร โดยชายสัญชาติไทยต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินในปีที่อายุย่างเข้าสิบแปดปี และจักมีสภาพเป็นทหารกองเกิน[61] กองทัพจะเรียกเกณฑ์ทหารกองเกินชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 21 ปี[62]ส่วนทหารกองเกินที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารจะได้รับการยกเว้นการเรียกเข้ามาตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ[63]
เศรษฐกิจ
ดูบทความหลักที่: เศรษฐกิจไทย
ดูเพิ่มเติมที่: เกษตรกรรมในประเทศไทย และ การท่องเที่ยวในประเทศไทย
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ | ||
---|---|---|
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในรูปตัวเงิน | 11.375 ล้านล้านบาท (2555) | [64] |
การเติบโตของจีดีพี | 2.9% (2556) | [65] |
ดัชนีราคาผู้บริโภค | 3.02% (ทั่วไป) 2.09% (พื้นฐาน) (2555) | [66] |
อัตราการว่างงาน | 0.7% (2556) | [67] |
หนี้สาธารณะรวม | 5.64 ล้านล้านบาท (มิ.ย. 2557) | [68] |
ความยากจน | 13.15% (2554) | [69] |
ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบผสม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดให้ประเทศไทยเป็น "ผู้ประสบความสำเร็จสูง" ในเอเชียตะวันออก ซึ่งประชาชนพ้นจากความยากจนและเข้าสู่ชนชั้นกลางที่เติบโตเร็ว เนื่องจากสาธารณสุขและระบบการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทาย เช่น ประชากรสูงอายุ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แรงกดดันทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำ[5] ใน พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีดัชนีการรับรู้การทุจริตค่อนข้างต่ำ โดยอยู่อันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ[70] เมื่อเดือนกันยายน 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติถูกมองว่าเป็นองค์การต่อต้านทุจริตเป็นองค์การที่ถูกใช้ทางการเมืองมากที่สุดในการสำรวจองค์การต่อต้านทุจริต 12 แห่งในทวีปเอเชีย[71] ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2556 กองทุนการเงินระหว่างประเทศรายงานว่า ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในรูปตัวเงินเป็นอันดับที่ 29 ของโลก อยู่ที่ 387,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[72] และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อเป็นอันดับที่ 24 ของโลก อยู่ที่ 673,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[73] ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และเพิ่งเป็นประเทศมีรายได้ปานกลาง-สูงใน พ.ศ. 2554[74] สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ มูดีส์จัดที่ Baa1 และฟิทช์จัดที่ BBB+
ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับที่ 23 ของโลก ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ฮ่องกงและเกาหลีใต้[75] เครื่องจักรเป็นทั้งสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย[76] ใน พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีการส่งออกสุทธิ 390,957 ล้านบาท[65] ธนาคารโลกเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย[77]
ในปี 2556 จีดีพีมาจากการใช้จ่ายของครัวเรือน 54.4% การใช้จ่ายของรัฐบาล 13.8% การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 26.7%[65] การส่งออกเป็นสัดส่วน 74% ของจีดีพี[78] ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากที่สุดคือ 38.1% ภาคการค้าส่ง ค้าปลีกมีสัดส่วนต่อจีดีพี 13.4% ภาคการขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนต่อจีดีพี 10.2% ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 8.3%[79] ในปี 2552–2553 ประเทศไทยส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบออก ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ มูลค่า 48,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 25% ของมูลค่าการส่งสินค้าออก[5] ในปี 2555 ประเทศไทยมีที่ดินเพาะปลูกได้ 165,600 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 32.3% ของพื้นที่ประเทศ[80] ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 55% ใช้ปลูกข้าว ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ในปี 2551 ประเทศไทยส่งข้าวออกราว 10 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 33% ของการค้าข้าวทั่วโลก[81] ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของโลก[82] พืชที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุดอื่น ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เนื้อไก่ เนื้อหมู มะม่วง มังคุด ฝรั่ง สัปปะรด รวมทั้งพวกผลไม้เขตร้อน[80] ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก[83]
ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 39.38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 15.41 ล้านคน หรือ 39.1% ของกำลังแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ค่าแรงขั้นต่ำทางการทุกจังหวัดเป็น 300 บาท[67] อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ 0.7% ซึ่งน้อยเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากประเทศกัมพูชา โมนาโกและกาตาร์[84]
ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทยถือว่าสูงสุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% มีรายได้ครัวเรือนเกินครึ่ง ดัชนีจีนีของรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 0.51 ความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเป็นปัจจัยกำหนดความยากจนและความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคในประเทศไทย ครอบครัวรายได้น้อยและยากจนกระจุกอยู่ในภาคเกษตรกรรมอย่างมาก และ 90% ของผู้ยากจนอาศัยอยู่ในชนบท[85] กรุงเทพมหานครซึ่งมีผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงสุดมีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดเป็น 406.9 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีน้อยที่สุด
ด้วยการขาดเสถียรภาพจากการประท้วงใหญ่ในปี 2553 การเติบโตของจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ราว 4–5% ลดลงจาก 5–7% ในรัฐบาลพลเรือนก่อน ความไม่แน่นอนทางการเมืองถูกระบุเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมของความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำนายว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแรงจากจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.1% ในปี 2554 เป็น 5.5% ในปี 2555 และ 7.5% ในปี 2556 เนื่องจากนโยบายการเงินที่อำนวยความสะดวกของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการคลังรวมที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอ[86] หลังรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สำนักข่าวทั่วโลกเอเอฟพีจัดพิมพ์บทความซึ่งอ้างว่า ประเทศไทยอยู่ ณ "ขอบภาวะเศรษฐกิจถดถอย" บทความดังกล่าวมุ่งสนใจชาวกัมพูชาเกือบ 180,000 คนที่ออกนอกประเทศเนื่องจากเกรงการจำกัดการเข้าเมือง ก่อนสรุปด้วยสารสนเทศว่าเศรษฐกิจไทยหดตัว 2.1% ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปลายเดือนมีนาคม 2557[87]
พลังงาน
ดูบทความหลักที่: พลังงานในประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นผู้นำน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเข้าสุทธิ มีการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันน้อยและต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่เพื่อการบริโภค แม้ว่ามีปริมาณสำรองแก๊สธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วขนาดใหญ่ แต่ยังต้องนำเข้าเพื่อให้ทันอุปทานในประเทศ การบริโภคพลังงานหลักของประเทศไทยมาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ คิดเป็นกว่า 80% ของทั้งหมด ในปี 2553 ประเทศไทยบริโภคพลังงานจากน้ำมันมากที่สุด (39%) รองลงมาคือ แก๊สธรรมชาติ (31%) ชีวมวลและของเสีย (16%) และถ่านหิน (13%) ในเดือนมกราคม 2556 ออยล์แอนด์แก๊สเจอร์นั
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น