เฉินหลง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความนี้เกี่ยวกับนักแสดง สำหรับนักแบดมินตัน ดูที่ เฉิน หลง
เฉินหลง
ชื่อเกิด 陳港生 (เฉิน กั่งเซิง)
เกิด 7 เมษายน ค.ศ. 1954 (62 ปี)
วิคตอเรีย พีค, ฮ่องกง
คู่สมรส 林鳳嬌 (หลิน ฟ่งเจียว)
ชื่ออังกฤษ:Joan Lin
(ค.ศ.1982 - ปัจจุบัน)
ชื่ออื่น 房仕龍 (ฝาง ซื่อหลง)
元樓 (หยวนโหลว)
อาชีพ นักแสดง, ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้ประสานงานฉากการต่อสู้, นักร้อง
ผลงานเด่น หวงเฟยหง ใน ไอ้หนุ่มหมัดเมา
กูกู๋ ใน วิ่งสู้ฟัด
สารวัตรลี ใน คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด
ชอน เวนย์ ใน คู่ใหญ่ฟัดข้ามโลก
เว็บทางการ
เฉินหลง (จีนตัวย่อ: 成龙; จีนตัวเต็ม: 成龍; พินอิน: Chénglóng) อ่านว่า เฉิงหลง หรือ แจ๊กกี้ ชาน (อังกฤษ: Jackie Chan) เป็นนักแสดงชาวฮ่องกงที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1954 ชื่อจริงของเฉินหลงคือ เฉิน กั่งเซิง (จีนตัวย่อ: 陈港生; จีนตัวเต็ม: 陳港生; พินอิน: Chén Gǎngshēng) ซึ่ง เฉิน กั่งเซิง มีความหมายว่า เกิดที่ฮ่องกง
เนื้อหา [ซ่อน]
1 ประวัติ
1.1 ชีวิตช่วงแรก
1.2 จุดตกต่ำ
1.3 จุดประสบความสำเร็จ
1.4 ฮอลลีวูด
2 งาน
2.1 JCE Movies Limited
2.2 เกร็ดเกี่ยวกับเฉินหลง
2.3 นักร้อง
2.4 สารคดี
2.5 ธุรกิจส่วนตัว
3 เฉินหลงในรูปแบบอื่น
3.1 วิดีโอเกม
3.2 การ์ตูน
4 แรงบันดาลใจ
5 ฉากเสี่ยงตายและอุบัติเหตุ
6 ชีวิตส่วนตัว
7 เฉินหลงและเหล่าหมี
8 เกียรติประวัติและภาพลักษณ์
9 สาเหตุที่คนไทยเรียกว่าเฉินหลง
10 ผลงานภาพยนตร์
11 อ้างอิง
12 แหล่งข้อมูลอื่น
ประวัติ[แก้]
ชีวิตช่วงแรก[แก้]
เฉินหลงถ่ายกับพ่อตอนเด็ก
เฉินหลงเกิดวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2497 ที่วิกตอเรียพีค (อังกฤษ:Victoria Peak ; จีน : 太平山 หรือ 扯旗山) ในฮ่องกง มีชื่อจริงว่า เฉินกั่งเซิง (陳港生) หรือหมายความว่า "เกิดที่ฮ่องกง" พ่อของเฉินหลงชื่อ เฉิน จื้อผิง (陳志平) แม่ชื่อ เฉิน ลี่ลี่ (陳莉莉) เดิมอยู่เมืองจีน แต่หนีออกมาอยู่ฮ่องกงสมัยสงครามกลางเมือง ตอนเด็กๆ พ่อแม่ตั้งชื่อเล่นให้อย่างน่ารักน่าเอ็นดูว่า "เพ่าเพ่า" หรือ "ลูกระเบิด" เพราะชอบนอนกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนเบาะ เขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เขาเกือบถูกพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าขายให้กับหมออังกฤษในราคาแค่ 26 เหรียญ แต่แล้วพ่อแม่ของเขาก็ได้ล้มเลิกความคิดนั้น
พ่อของเขาทำงานเป็น "พ่อครัว" แม่ทำงานเป็น "แม่บ้าน" ให้กับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในฮ่องกง เฉินหลงก็เติบโตมาในสถานทูต เมื่ออายุถึงเกณฑ์ก็เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนหนานหัว
เมื่อเฉินหลงอายุได้ 7 ขวบ พ่อก็ส่งเขาเข้าโรงเรียนอุปรากรจีน โดยที่ตัวของพ่อกับแม่นั้นต้องไปทำงานเป็นพ่อครัวกับแม่บ้านที่สถานทูตในออสเตรเลีย และที่โรงเรียนนั้นเองที่ทำให้เฉินหลงได้เรียนรู้ชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะเขาต้องห่างครอบครัวเป็นเวลานาน แต่ที่นั่นก็ทำให้เฉินหลงได้พบเพื่อนร่วมสาบานอย่าง หงจินเป่า และ หยวนเปียว
เมื่อครั้งเฉินหลงอายุ 9 ขวบ ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในเยาวราชถึง 2 ปี อาศัยอยู่หลังโรงงิ้วเก่า ในวัยเด็กได้เรียนมวยไทยกับคุณลุงแก่ๆขาเป๋ คอยสอนมวยไทยให้ ดังนั้นเฉินหลงจึงมีความผูกพันกับคนไทยมาก [1]
เฉินหลงเรียนจบเมื่ออายุ 17 ปี เขาได้ไปสมัครเข้าร่วมทีมสตันท์ในวงการหนังฮ่องกงในช่วงที่ บรู๊ซ ลี ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อ บรู๊ซ ลี เสียชีวิต เฉินหลงต้องตกงานเพราะวงการหนังกังฟูฮ่องกง กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ
จุดตกต่ำ[แก้]
ความสามารถเฉินหลงเกิดไปสะดุดตาผู้สร้างหนังอย่าง หลอเหว่ย ผู้กำกับหนัง Fist of Fury (ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง) ของบรู๊ซ ลี โดยเขาต้องการปั้นดารากังฟูขึ้นมาแทนบรู๊ซ ลี โดยเฉินหลงได้แสดงหนังในตอนนั้นทั้งหมด 10 เรื่อง ได้แก่ New Fist of Fury (มังกรหนุ่มคะนองเลือด) (1976) Shaolin Wooden Men (ถล่ม 20 มนุษย์ไม้) (1976) Eagle Shadow Fist (1977) Half a Loaf of Kung Fu (ไอ้หนุ่มหมัดคัน) (1977) Killer Meteors (ไอ้ดาวหางจอมเพชรฆาต) (1977) To Kill with Intrigue (นางพญาหลั่งเลือดสะท้านภพ) (1977) Snake and Crane Arts of Shaolin (ไอ้หนุ่มหมัดทะเล้น) (1978) Magnificent Bodyguards (ศึกมันทะลุฟ้า) (1978) Spiritual Kung Fu (ไอ้หนุ่มพันมือ ตอน 2) (1978) และ Dragon Fist (เฉินหลง สู้ตาย) (1978) โดยทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่เรื่องเดียว
จุดประสบความสำเร็จ[แก้]
Drunken Master (1978)
ปี 1978 เมื่อเฉินหลงนำแสดงหนังให้กับ Seasonal Film เรื่อง Snake in the Eagle's Shadow (ไอ้หนุ่มพันมือ) (1978) ทำให้ชื่อของเฉินหลง กลายเป็นดาราดังเพียงช่วงข้ามคืน เพราะสามารถทำเงินอย่างมหาศาลในฮ่องกง จากนั้นเฉินหลงก็ได้นำแสดงใน Drunken Master (ไอ้หนุ่มหมัดเมา) (1978) โดยเฉพาะเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จทั่วเอเชียอีกด้วย
และเมื่อเฉินหลงหมดสัญญากับหลอเหว่ย เขาก็มุ่งหน้าไปที่สังกัดโกลเด้นท์ ฮาร์เวส (Golden Harvest) ซึ่งในอดีตบรู๊ซ ลี เคยเป็นดาราประจำของค่ายนี้ โดยที่สิทธิการทำหนังในค่ายนี้ เฉินหลงเป็นคนสามารถเลือกเองได้ ผลงานเรื่องแรกในค่ายนี้คือเรื่อง The Young Master (ไอ้มังกรหมัดสิงโต) (1980) ซึ่งสามารถทำรายได้ 10 ล้านเหรียญฮ่องกงเป็นเรื่องแรก จากนั้น หลังจากนั้นเฉินหลงก็ได้กลับมาทำหนังในฮ่องกงกับร่วมกับ 2 สหายอย่าง หงจินเป่า และ หยวนเปียว โดยผลงานที่ทั้งสามได้แสดงด้วยกันมี 6 เรื่อง คือ Winners and Sinners (มือปราบจมูกหิน) (1983) Project A (เอไกหว่า) (1984) Wheels on Meals (ขาตั้งสู้) (1984) My Lucky Stars (7เพชรฆาตสัญชาติฮ้อ) (1985) Twinkle Twinkle Lucky Stars (ขอน่า อย่าซ่าส์) (1986) และ Dragons Forever (มังกรหนวดทอง) (1988) เป็นเรื่องสุดท้าย (แต่เรื่อง Heart of Dragon (2พี่น้องตระกูลบึ้ก) (1985) เฉินหลงกับหงจินเป่าแสดง แต่หยวนเปียวอยู่ในส่วนกำกับคิวบู๊ )
แต่เฉินหลงกลับมาประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้ง ในหนังตำรวจร่วมสมัยอย่าง Police Story (วิ่งสู้ฟัด) (1985) โดยเรื่องนี้ทำให้เฉินหลงได้รับรางวัลม้าทองคำ (ตุ๊กตาทองฮ่องกง) ถึง 2 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม จากนั้นเฉินหลงก็แสดงหนังในฮ่องกงหลายเรื่องตลอดมาเรื่อยๆ เช่น Armour of God (ใหญ่สั่งมาเกิด) (1987) Police Story 2 (วิ่งสู้ฟัด2) (1988) Miracles (ฉีจี้) (1989)
จนโชคเพิ่งมาเข้าข้างเฉินหลงในช่วงยุค'90 หนังหลายเรื่องของเฉินหลงเป็นที่ยอมรับในทั่วเอเชียเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Armour of God II: Operation Condor (ใหญ่สั่งมาเกิด 2 : อินทรีทะเลทราย) (1991) Police Story 3: Supercop (วิ่งสู้ฟัด3) (1992) City Hunter (ใหญ่ไม่ใหญ่ ข้าก็ใหญ่) (1993) Crime Story (วิ่งสู้ฟัด ภาคพิเศษ) (1993) และตำนานไอ้หนุ่มหมัดเมาอย่าง Drunken Master II (ไอ้หนุ่มหมัดเมา2) (1994) ซึ่งเรื่องนี้เฉินหลงได้ร่วมงานกับ หลิวเจียงเหลียง อีกทั้งยังทำรายได้ไปถึง 40 ล้านเหรียญฮ่องกง จากนั้นเฉินหลงก็มีหนังท็อปฟอร์มหลายเรื่องในเวลาต่อมา เช่น Thunderbolt (1995) (เร็วฟ้าผ่า) Police Story 4: First Strike (ใหญ่ฟัดโลก2) (1996) Mr. Nice Guy (ใหญ่ทับใหญ่) (1997) และ Who Am I? (ใหญ่เต็มฟัด) (1998)
ฮอลลีวูด[แก้]
Rush Hour (1998)
เฉินหลงก็มีโอกาสไปแสดงหนังฮอลลีวู้ดเป็นครั้งแรกในหนังพีเรียด - กังฟู เรื่อง The Big Brawl (ไอ้มังกรถล่มปฐพี) (1980) (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Battle Creek Brawl) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ไม่ประสบความสำเร็จเลย จากนั้นเขาก็แสดงเป็นตัวประกอบในหนังแนว Road Movie อย่าง Cannonball Run (เหาะแล้วซิ่ง) (1981) และ Cannonball Run 2 (1982) เรียกได้ว่าการไปเล่นหนังฮอลลีวู้ดของเขานั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า และเรื่องที่ 4 อย่าง The Protector (กูกู๋ปืนเค็ม) (1985) ซึ่งก็ล้มเหลวอีกครั้ง
และการไปเปิดตลาดอเมริกาครั้งที่สอง ของเฉินหลงก็เป็นผล เมื่อ Rumble in the Bronx (ใหญ่ฟัดโลก) (1995) สามารถเปิดตัวขึ้นอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิสของอเมริกาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 สามารถทำรายได้ตลอดการฉายถึง 32.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และการแสดงหนังฮอลลีวู้ดของเฉินหลงในรอบหลายปีก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเฉินหลงนำแสดงใน Rush Hour (คู่ใหญ่ ฟัดเต็มสปีด) (1998) ที่นำแสดงคู่กับ คริส ทักเกอร์ หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยสามารถทำรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิสถึง 141.1 ล้านเหรียญ และ 244.3 จากทั่วโลก จากนั้นเฉินหลงก็มีโอกาสเล่นหนังทั้งในฮ่องกงและอเมริกาสลับกันหลายๆครั้ง เช่น Gorgeous (เบ่งหัวใจฟัดให้ใหญ่) (1999) Shanghai Noon (คู่ใหญ่ฟัดข้ามโลก) (2000) The Accidental Spy (วิ่งระเบิดฟัด) (2001) และเฉินหลงก็กลับมาเล่นหนังภาคต่ออย่าง Rush Hour 2 (คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด 2) (2001) The Tuxedo (สวมรอยพยัคฆ์พิทักษ์โลก) (2002) และ Shanghai Knights (คู่ใหญ่ฟัดทลายโลก) (2003) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเหมือนเคย
แต่ผลงานอย่าง Around The World in 80 Days (80วัน จารกรรมฟัดข้ามโลก) (2004) ที่เฉินหลงร่วมแสดงกับ สตีฟ คูแกน และ ซีซิล เดอ ฟรานซ์ ประสบความล้มเหลวในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยทำเงินทั่วโลกไปเพียงแค่ 72.1 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้นอีก 3 ปี เฉินหลงก็กลับมาร่วมงานกับ แบร็ท แร็ตเนอร์ และ คริส ทักเกอร์ อีกครั้ง ใน Rush Hour 3 (คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด 3) (2007) โดยทิ้งห่างจากภาคที่แล้วถึง 6 ปี และก็ยังทำเงินในอเมริกาถึง 140.1 และ 255.0 จากทั่วโลก
ปี 2008 เฉินหลงนำแสดงร่วมกับ เจท ลี ในภาพยนตร์กำลังภายใน - แฟนตาซี เรื่อง The Forbidden Kingdom (หนึ่งฟัดหนึ่ง ใหญ่ต่อใหญ่) (2008) โดยเป็นการร่วมกันครั้งแรกของทั้งคู่ และในปีเดียวกันเฉินหลงยังให้เสียงตัวการ์ตูน "Master Monkey" ในเรื่อง Kung Fu Panda (2008) ของ ดรีมเวิร์กส์ แอนนิเมชั่น โดยมีผู้ร่วมให้เสียง เช่น แจ็ค แบล็ค, ดัสติน ฮอฟแมน, แองเจลิน่า โจลี่ และ ลูซี่ ลิว
เฉินหลงนำแสดงในหนังแอ็คชั่น - คอมเมดี้ เรื่อง The Spy Next Door (วิ่งขโยงฟัด) (2010) โดยรับบทเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่ต้องมาต่อสู้กับเหล่าสายลับมากฝีมือ หลังจากที่เหล่าเด็กๆดูแลดันเกิดโหลดข้อมูลลับขององค์กรแห่งหนึ่ง โดยมีกำหนดฉายต้นปี 2010 และ Kung Fu Kid งานรีเมคจากอดีตหนังดังอย่าง The Karate Kid (1984) แสดงร่วมกับ จาเดน สมิธ ลูกชายของนักแสดงชื่อดัง วิล สมิธ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเปิดตัวขึ้นอันดับหนึ่งในบ๊อกซ์ออฟฟิศ และทำไปกว่า 170 ล้านเหรียญในสหรัฐ และกำลังออกฉายตามทั่วโลก
งาน[แก้]
JCE Movies Limited[แก้]
JCE Movies Limited
หลังจากร่วมงานกับทาง Golden Harvest มานานร่วม 20 กว่าปี ในปี 2003 เฉินหลงจึงตัดสินใจเดินออกจาก Golden Harvest และมาเปิดบริษัทของตัวเองในนาม JCE Movies Limited (Jackie Chan Emperor Movies Limited) โดยอยู่ในเครือของบริษัท Emperor Multimedia Group (EMG) บริษัทสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ในฮ่องกง
ซึ่งตัวของเฉินหลงเองเป็นทั้งผู้สร้างและนำแสดงในหนังของตนเอง หนังของเขาเรื่องแรกในนามบริษัทนี้ คือ The Medallion (ฟัดอมตะ) (2003) และหลังจากนั้นก็มีผลงานทำเงินต่อเนื่องอย่าง New Police Story (วิ่งสู้ฟัด 5 เหิรสู้ฟัด) (2004) , The Myth (ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา) (2005) และ Rob-B-Hood (วิ่งกระเตงฟัด) (2006)
ปี 2009 เฉินหลงนำแสดงภาพยนตร์แนวดราม่าเรื่อง The Shinjuku Incident (ใหญ่แค้นเดือด) (2009) ผลงานของ เอ๋อตงเซิน โดยเรื่องนี้เป็นผลงานดราม่าเต็มรูปแบบครั้งแรกของเฉินหลง
ช่วงหลังๆมานี้เฉินหลงมีผลงานการแสดงกับต่างชาติน้อยลง เขาเริ่มที่จะกลับมาทำหนังในฮ่องกงอีกครั้ง ซึ่งหนังเรื่องที่ 100 ของเขาคือ 1911 (ใหญ่ผ่าใหญ่)
ล่าสุดเฉินหลงกำลังถ่ายทำและกำกับ Chinese Zodiac หรือภาคต่อของหนังสุดมันส์อย่าง
Armour Of God : Chinese Zodiac มีชื่อไทยเรียกว่า "ใหญ่สั่งมาเกิด 3" (ล่าสุดสหมงคลฟิล์มเจ้าของหนังตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ใหม่ว่า วิ่ง・ปล้น・ฟัด) [2]
ผลงานในยุค JCE
The Medallion (ฟัดอมตะ) (2003)
Rice Rhapsody (2004)
Enter the Phoenix (ใหญ่นะยะ) (2004) [รับเชิญ]
New Police Story (วิ่งสู้ฟัด 5 เหิรสู้ฟัด) (2004)
House of Fury (2005)
Everlasting Regret (2005)
The Myth (ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา) (2005)
Rob-B-Hood (วิ่งกระเตงฟัด) (2006)
Run Papa Run (2008)
Wushu (2008)
"Shenmue Online (VG) (2008)
The Shinjuku Incident (ใหญ่แค้นเดือด) (2009)
"Armour Of God : Chinese Zodiac (ใหญ่สั่งมาเกิด 3 ตอน วิ่ง・ปล้น・ฟัด)
เกร็ดเกี่ยวกับเฉินหลง[แก้]
ใหญ่ฟัดโลก 2 (วิ่งสู้ฟัดภาค 4)
จางม่านอวี้ในบทอาเมย์ จาก วิ่งสู้ฟัด
หนังเฉินหลงเรื่องแรก ที่ชื่อไทยมีคำว่า 'ฟัด' คือ Police Story หรือ 'วิ่ง สู้ ฟัด'
หนังเฉินหลงเรื่องแรก ที่ชื่อไทยมีคำว่า 'ใหญ่' คือ Armour of God หรือ 'ใหญ่สั่งมาเกิด'
หนังเฉินหลงเรื่องแรกในเครือสหมงคลฟิล์ม คือ 'ฉีจี้' (Miracle)
ฉาก Outtake หรือฉากหลุดจากภาพยนตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังเฉินหลง ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในเรื่อง Dragon Lord หรือ 'เฉินหลงจ้าวมังกร'
หนังเรื่อง 'ไอ้หนุ่มหมัดเมา' เคยเข้าฉายในเมืองไทยถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 1978โดย กรุงเกษม และครั้งที่2 ปี 1994 โดย สหมงคลฟิล์ม นำกลับมาฉายใหม่เพื่อต้อนรับ การเข้าฉายของ 'ไอ้หนุ่มหมัดเมา ภาค2'
เสียงของนักพากย์ที่ให้เสียงของเฉินหลง ที่คนไทยให้การยอมรับ แบ่งออกเป็น 3ยุค ยุคแรก กรุงเกษม-นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คือ คุณ รอง เค้ามูลคดี (เสียงเอก) (ไม่แน่ชัด - พ.ศ. 2531) ยุคกลาง สหมงคลฟิล์ม คือคุณ ชูชาติ อินทร (อินทรี) (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2539) และยุคปัจจุบัน มงคลภาพยนตร์ คือ คุณ ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ (พันธมิตร) (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน)
หนังเรื่อง วิ่ง・ปล้น・ฟัด คือ ใหญ่สั่งมาเกิด ภาค 3
'ใหญ่ทับใหญ่' (Mr.NiceGuy) (1997) คือหนังเฉินหลงเรื่องแรกที่ 'ให้เสียงภาษาไทยโดย พันธมิตร'
ทีมพากย์อินทรี ได้พากย์หนังเฉินหลงอีกครั้ง และเป็นเรื่องสุดท้าย คือ '80 วัน จารกรรมฟัดข้ามโลก' (Around The World in 80 Days) (2004) เนื่องจากหนังไม่ได้เป็นของค่ายในเครือสหมงคลฟิล์ม)
เฉินหลงเคยใช้ชีวิตช่วงนึงในวัยเด็กอยู่ที่เมืองไทย แถวๆเยาวราช และสามารถพูดภาษาไทย ได้นิดหน่อย
จริงๆแล้วหนังเรื่อง FirstStrike คือ ภาคที่ 4 ของ PoliceStory หรือ 'วิ่งสู้ฟัด' แต่ตอนฉายในไทย กลับตั้งชื่อเรื่องว่า 'ใหญ่ฟัดโลก2' (และยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ทั้ง วิดีโอ วีซีดี และ ดีวีดี) จึงทำให้ในเมืองไทยไม่เคยมีหนังเรื่อง 'วิ่งสู้ฟัด 4' มาตั้งแต่นั้น
เฉินหลงมักจะไม่ใช้นางเอกคนเดียวกันเกิน 1 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นักแสดงหลายคนมีชื่อเสียงและโด่งดังในเวลาต่อมา จนมีคำเรียกนักแสดงหญิงที่เคยได้ร่วมงานในหนังของเฉินหลงว่า 'Chan Girls'
เป็นการล้อเลียนเจมส์ บอนด์ นั่นเอง
นักแสดงหญิงที่ได้รับบทเป็นนางเอกและร่วมงาน ในภาพยนตร์ของเฉินหลงมากที่สุด คือ 'จางม่านอวี้' ซึ่งแสดงถึง 5 เรื่องด้วยกันได้แก่ 'วิ่งสู้ฟัด ภาค 1-3' 'เอไกหว่า ภาค 2' และ 'ใหญ่แฝดผ่าโลกเกิด'
เฉินหลง เคยออกรายการในเมืองไทย คือรายการ ทไวไลท์โชว์ โดยครั้งนั้นเฉินหลงมาให้สัมภาษณ์ถึงเมืองไทย และได้รับรูปถ่ายขนาดยักษ์ของตนเองไว้เป็นที่ระลึก
รายการตีสิบ ก็เคยได้สัมภาษณ์เฉินหลง ออกรายการเช่นกัน โดยเดินทางไปสัมภาษณ์กันถึง ฮ่องกง แต่ทว่า ทีมงานกลับทำเทปที่บันทึกการถ่ายทำไว้ สูญหายที่สนามบิน จึงไม่ได้ออกอากาศ ต่อมารายการตีสิบได้นำเทปฟุตเตจการสัมภาษณ์ที่ ยังหลงเหลือบางส่วนมาออกอากาศให้ชม
นักร้อง[แก้]
เฉินหลงเป็นคนที่ชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เฉินหลงเคยชิมลางร้องเพลงประกอบในหนังเรื่อง The Young Master (1980) ในเพลงที่มีชื่อว่า "Kung Fu Fighting Man" ซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษเพลงแรกในชีวิตของเขา
และในปี 1984 เฉินหลงเปิดตัวในฐานะศิลปินกับอัลบั้มแรกที่มีชื่อชุดว่า Love Me โดยมีเพลงฮิตในชื่อเดียวกับอัลบั้ม ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร และหลังจากนั้นเขาก็มีผลงานอัลบั้มเพลงกว่า 20 ชุด โดยเป็นอัลบั้มเดี่ยว 11 ชุด อัลบั้มรวมฮิต 9 อัลบั้ม อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ 12 ชุด (ร่วมร้อง) และร่วมร้องกับศิลปินอื่นๆอีกมากมาย
อัลบั้มเพลงเดี่ยวล่าสุดของเขาคือชุด Truely, With All My Heart ในปี 2002 และมีเพลงฮิตในชื่อเดียวกับอัลบั้ม
Music Albums
Love Me (1984)
Do Je (1985)
The Boy's Life (1985)
Shangri La (1986)
Sing Lung (1986)
Mou Man Tai (1987)
HK, My Love (1988)
Jackie Chan (1988)
The Best Of Jackie Chan (1988)
See You Again - The Best of Jackie Chan II (1989)
Jackie (1989)
The First Time (1992)
The Best of Film Music (1995)
Jackie Chan (1995)
Giant Feelings (90s)
Dragon's Heart (1996)
The Best Of Jackie Chan (1999)
Asian Pops Gold Series (2000)
Rock Hong Kong 10th Anniversary - Jackie Chan Greatest Hits (2003)
Movie Soundtrack LP's & CD's
Armour of God (Alan Tam - 1986)
Police Story 3 (1992)
Drunken Master 2 (1994)
Thunderbolt (1995)
Mr. Nice Guy (1997)
Who Am I (1998)
Mulan - Chinese OST (1998)
Gorgeous (1999)
Rush Hour - Asian OST (1998)
Accidental Spy (2001)
New Police Story (2004)
The Myth (2005)
Rob-B-Hood (2006)
Jackie Chan : My Stunts (1999)
สารคดี[แก้]
เฉินหลงได้สร้างงานสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของตัวเขาเองถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเขาสร้างงานสารคดีเกี่ยวกับชีวประวัติตัวเองในชื่อชุด Jackie Chan : My Story (1998) เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงจุดที่เฉินหลงประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้ ซึ่งมีแขกรับเชิญต่างๆมากมาย อาทิ หงจินเป่า หยาง จื่อฉยง และอื่นๆอีกมากมาย
ครั้งที่สองใช้ชื่อชุดว่า Jackie Chan : My Stunts (เฉินหลง ท้าตายสไตล์ผม) (1999) โดยเนื้อหาในนี้เกี่ยวงานแอ๊คชั่นของเฉินหลง ซึ่งเป็นเคล็ดลับสำหรับคนที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับงานสตันท์ได้เป็นอย่างดี
และครั้งล่าสุดใช้ชื่อชุดว่า Traces of a Dragon : Jackie Chan & His Lost Family (2003) ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของพ่อเฉินหลง ซึ่งเนื้อหาจะมีเรื่องของสภาพสังคมในประเทศจีนในสมัยของพ่อเฉินหลง
เฉินหลงมีส่วนร่วมในสารคดีเรื่อง An Alan Smithee Film: Burn Hollywood Burn (1998) โดยเฉินหลงรับบทเป็นตัวของเฉินหลงจริงๆ หนังว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับผู้กำกับ ที่ทำหนังไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่หนังก็สามารถคว้ารางวัล Razzie Awards (รางวัลหนังยอดแย่) ไปครองถึง 5 ตัว
ธุรกิจส่วนตัว[แก้]
เฉินหลงนอกจากจะทำงานในวงการบันเทิงแล้ว เขายังมีธุรกิจส่วนตัวอย่างร้านอาหาร Jackie's Kitchen ที่มีสาขา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี และอีกหลายสาขาในทั่วโลก Jackie Chan Cafe ที่มีสาขาทั้งจีน, มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงธุรกิจฟิตเนสที่มีชื่อว่า California Fitness Jackie Chan Sport Club และล่าสุดได้เปิดเว็บไซต์อย่าง JackieChanDesign.com ที่รวบรวมขายสินค้าของเขาทางอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่โปสเตอร์, เสื้อผ้า, ของตกแต่งบ้าน จนกระทั่งแสตมป์ และมีสาขาต่างประเทศคืออังกฤษและรัสเซีย
เฉินหลงในรูปแบบอื่น[แก้]
วิดีโอเกม[แก้]
Jackie Chan's Action Kung Fu
เฉินหลงในปัจจุบันเป็นดาราแอคชั่นระดับโลกไปแล้ว ดังนั้นบริษัทเกมทั้งหลายจึงอยากจะนำรูปลักษณ์ของเฉินหลงไปเป็นตัวละครในเกม เดิมทีเฉินหลงเคยถูกนำไปเป็นแบบตัวละครในเกม Jackie Chan's Action Kung Fu ในปี 1991 โดยบริษัท Hudson Soft
ปี 1995 เฉินหลงก็ถูกเอาไปสร้างเป็นเกมตู้ในเกมที่มีชื่อว่า Jackie Chan In Fists Of Fire สร้างโดย Kaneko
ปี 2000 เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันก็เอาเฉินหลงไปเป็นตัวละครในเกม Jackie Chan Stuntmaster ซึ่งผลิตโดย Radical Entertainment ซึ่งเป็นเกมรูปแบบ 3D
และล่าสุดกับเกม Jackie Chan Advertures ในปี 2004 โดยอิงจากตัวละครในการ์ตูน Jackie Chan Adventures โดยจัดจำหน่ายในรูปแบบเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ และ เกมเพลย์สเตชัน 2 โดยบริษัท Atomic Planet ในเครือของ Sony โดยอิงเนื้อเรื่องของการ์ตูนในช่วง Season 1 และ 2
การ์ตูน[แก้]
Jackie Chan Adventures เป็นชื่อของการ์ตูนที่เอาคาแรคเตอร์ของเฉินหลงไปสร้างเป็นตัวละครหลักของเรื่อง โดยการสร้างสรรค์ของจอห์น โรเจอร์ ผ่านการออกแบบตัวละครโดย เจฟฟ์ มัสสุดะ ออกฉายทางช่อง Cartoon Network สร้างโดย Kids' WB ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน ปี 2000 ถึง 8 กรกฎาคม ปี 2005 ทั้งหมด 95 ตอน ภายใน 5 Season และเคยออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 เวลา 06.00 ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ปี 2544 - 2545
แรงบันดาลใจ[แก้]
ฮาร์โรลด์ ลอยด์
"แรงบันดาลใจของเฉินหลงไม่ใช่บรู๊ซลี" เฉินหลงเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการจะเป็นบรู๊ซลีคนที่ 2 แต่เขาต้องการต่างออกไปจากตัวของบรู๊ซลี เฉินหลงจึงผสมผสานงานของเขาให้ออกมาในแบบที่ไม่รุนแรง ซึ่งงานของบรู๊ซลีมักจะเป็นในรูปแบบที่จริงจัง หนักหน่วง ภาพยนตร์ของเฉินหลงเป็นในรูปแบบกังฟูสมัยใหม่ผสมกับความตลก ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากดาราตลกเงียบ 3 คน อันได้แก่
ชาร์ลี แชปลิน ในส่วนนี้เฉินหลงได้แรงบันดาลใจมากจากการแสดงหน้า ท่าทาง
ฮาร์โรลด์ ลอยด์ เฉินหลงได้ไอเดียจากการแสดงฉากหัวเราะในเวลาที่สถานการณ์ขับขัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คืองานของเฉินหลงในเรื่อง เอไกหว่า หรือ Project A (เอไกหว่า)(1984) ในฉากตกหอนาฬิกา โดยเหมือนกันทุกๆอย่าง ต่างกันที่เฉินหลงเลือกที่จะตกลงมาจากความสูงจริงๆ แต่ฮาร์โรลด์ ลอยด์ ใช้ความสูงที่ต่างจากเฉินหลง
บัสเตอร์ คีตัน เฉินหลงได้ไอเดียของการแสดงตลกหน้าตาย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกคือ ฉากที่ฝาบ้านในเรื่อง Project A Part II (เอไกหว่า ภาค2)(1987) ตกลงมาใส่ตัวของเฉินหลง แต่เฉินหลงกลับอยู่ในจุดที่ตรงกับประตูของฝาบ้าน จึงทำให้เฉินหลงไม่เป็นอะไร ซึ่งคล้ายกับฉาก Steamboat Bill Jr. (เรือกลไฟวิลลี่)(1928) ของบัสเตอร์ คีตัน
ฉากเสี่ยงตายและอุบัติเหตุ[แก้]
ภาพอุบัติเหตุจาก Armour of God (1987)
เฉินหลงได้จัดตั้งทีมงานสตั๊นท์ของตนเองโดยใช้ชื่อว่า Jackie Chan Stunt Team (หรืออีกชื่อ Jackie Chan's Stuntmen Association) ซึ่งเฉินหลงตั้งทีมนี้ในปี 1983 โดยทำงานในการออกแบบท่าทางและสร้างสรรค์ฉากแอ็คชั่นในหนังของเฉินหลง โดยแรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 6 คน จากนั้นก็มีคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในทีมนับสิบกว่า ทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ ซึ่งทีมของเฉินหลงยังประสานงานร่วมกันกับทีมของ หงจินเป่า และ หยวนเปียว ด้วย โดยใช้ชื่อว่า Hung Ga Ban และ Yuen Ga Ban ตามลำดับ
การเกิดอุบัติเหตุก็ดูว่าจะเป็นของคู่กันกับการแสดงฉากเสี่ยงตายของเฉินหลง ซึ่งบาดแผลจากอุบัติเหตุของเฉินหลงนั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดก็คือในหนังเรื่อง Armour of God (1987) : ใหญ่สั่งมาเกิด โดยในฉากแรกของหนังที่เฉินหลงจะต้องกระโดดจากตึกแล้วมาเกาะต้นไม้ แต่ในการถ่ายทำครั้งแรกเฉินหลงรู้สึกไม่ดีพอเลยต้องการถ่ายใหม่ แต่การถ่ายครั้งที่สองต้นไม้ที่เฉินหลงเกาะนั้นเกิดหัก ทำให้เฉินหลงตกลงมาในความสูงที่พอสมควร ผลก็คือ กะโหลกศีรษะของเฉินหลงร้าว ทำให้ต้องมีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แต่ในที่สุดเฉินหลงก็รอดมาได้ ทว่าหูของเขาได้รับความกระทบกระเทือนพอสมควร จึงทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง
ในการถ่ายทำหนังเฉินหลงผ่านการบาดเจ็บมามากมายนับครั้งไม่ถ้วน ได้แก่
ศีรษะ - สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากหนังเรื่อง Armour of God (ใหญ่สั่งมาเกิด) , ได้รับความกระทบกระเทือนจนหมดสติใน Hand of Death
หู - ในอุบัติเหตุครั้งเดิมใน Armour of God (ใหญ่สั่งมาเกิด) หูข้างซ้ายของเฉินหลง มีประสิทธิภาพทางการได้ยินน้อยลง
ตา - หางคิ้วบาดเจ็บ และเกือบตาบอดใน Drunken Master (ไอ้หนุ่มหมัดเมา)
จมูก - จมูกใหญ่ๆ ของเฉินหลงเคยหักมาสองครั้ง ใน The Young Master (ไอ้มังกรหมัดสิงโต) , Project A (เอไกหว่า) และเกือบๆ หักใน Mr. Nice Guy (ใหญ่ทับใหญ่)
แก้ม - กระดูกแก้มเคลื่อนใน Police Story 3 (วิ่งสู้ฟัด3)
ฟัน - ฟันหักไปหนึ่งซี่ โดยการเตะของ Hwang Jang Lee ใน Snake in the Eagle's Shadow (ไอ้หนุ่มพันมือ)
คาง - ใน Dragon Lord ที่เฉินหลงกำกับเอง เขาบาดเจ็บคางจนเจ็บแม้กระทั่งเวลาพูด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเวลาต้องกำกับหนัง ส่วนการแสดงไม่สามารถทำได้เลย
ช่องคอ - จากการเกิดอุบัติเหตุในการถ่ายทำเรื่อง The Young Master (ไอ้มังกรหมัดสิงโต)
คอ - เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งที่หนักก็คือฉาก "หอนาฬิกา" ใน Project A (เอไกหว่า) และจากการถ่ายฉากตีลังกาใน Mr. Nice Guy (ใหญ่ทับใหญ่)
ไหล่ - เจ็บไหล่จาก City Hunter (ใหญ่ไม่ใหญ่ข้าก็ใหญ่)
มือ - จาก The Protector (กูกู๋ ปืนเค็ม) ที่เฉินหลงเจ็บมือ และกระดูกนิ้วร้าว
แขน - ในเรื่อง Snake in the Eagle's Shadow (ไอ้หนุ่มพันมือ) เฉินหลงต้องถ่ายทำฉากการต่อสู้โดยใช้ดาบ เกิดอุบัติเหตุจนดาบไปเฉือนเนื้อของเขาเข้าจริงๆ จนเลือดพุ่งออกมา แต่กล้องก็ยังถ่ายต่อไป ทำให้อุบัติเหตุนี้ปรากฏอยู่ในฉากนั้นด้วย อีกเรื่องคือ "The Accidental Spy (วิ่งระเบิดฟัด)" ในฉากสุดท้ายที่เฉินหลงต้องกระโดดออกจากรถบรรทุกที่ต้องเกาะตาข่าย ที่ข้างทางถึงแม้จะมี Sling แต่ นั่นก็ยังทำให้เฉินหลงแขนหักอยู่ดี
หน้าอก - ฉากที่เฉินหลงต้องถูกห้อยด้วยโซ่ใน Armour of God II: Operation Condor (ใหญ่สั่งมาเกิด 2 : อินทรีทะเลทราย) ทำให้กระดูกหน้าอกเคลื่อน
หลัง - เกิดขึ้นบ่อยๆ ในหนังของเฉินหลง โดยเฉพาะใน Police Story (วิ่งสู้ฟัด) ในฉากที่เฉินหลงสไลด์ตัวลงมาจากเสา เกือบทำให้เขาเป็นอัมพาต เพราะกระดูกสันหลังเกือบหัก
กระดูกเชิงกราน - ในฉากเดียวกันกับด้านบน กระดูกเชิงกรานของเฉินหลงเคลื่อน
ขา - ขาหักใน Crime Story (วิ่งสู้ฟัด ภาคพิเศษ) จากอุบัติเหตุจากรถ
เข่า - เข่าก็เป็นอีกส่วนที่หักเป็นประจำ ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือฉากสเก็ตบอร์ดใน City Hunter (ใหญ่ไม่ใหญ่ ข้าก็ใหญ๋)
เท้า - เฉินหลงเท้าหักในฉากที่ต้องกระโดดลงไปใน hovercraft ในภาพยนตร์เรื่อง Rumble in the Bronx (ใหญ่ฟัดโลก) หลังจากไปเข้าเฝือก เฉินหลงก็กลับไปแสดงทั้งๆ ที่ยังใส่เฝือกที่ขาอยู่
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
เฉินหลงเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งกับ หลิน ฟ่งเจียว นักแสดงชาวไต้หวัน เมื่อปี 1982 มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ เจย์ซี ชาน (ชื่อแรกเกิด เฉิน จู่หมิง) ปัจจุบันแยกกันอยู่ แต่เมื่อปี 1999 หนังสือพิมพ์ในฮ่องกงต่างพาดหัวข่าวว่า "เฉินหลงทำผู้หญิงท้อง" ปรากฏภายหลังว่าผู้หญิงคนดังกล่าวคือ อู๋ ฉี่ลี่ อดีตมิสเอเชียปี 1990 โดยปัจจุบันเฉินหลงมีลูกสาวที่เกิดกับอู๋ ฉี่ลี่ อีก 1 คน คือเอ็ตต้า อู๋ (อู๋จั้วหลิน)
เฉินหลงนับถือศาสนาพุทธ[3][4] ใน ค.ศ. 2009 เฉินหลงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยกัมพูชา[5][6]
เฉินหลงและเหล่าหมี[แก้]
ตอนที่เฉินหลงมากรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "80 วันรอบโลก" เขาได้รู้จักกับ United Buddy Bears ในตอนนั้น มีเหล่าหมี Buddy Bears อยู่ทั่วทุกจุดในกรุงเบอร์ลิน เฉินหลงอยากรู้สาเหตุของเหล่าหมีที่มีสีสันสดใสว่าเป็นเพื่อสิ่งใด จึงทำการค้นคว้าข้อมูล เขาได้ทราบว่าเหล่าหมีคือผลงานสร้างสรรค์ของชาวเบอร์ลินนี่เอง คือเคลาส์และเอวา เฮอร์ลิทซ์ เขารับรู้ว่ามีสารที่มาพร้อมกับเหล่าหมีนั้น คือสารที่ตัวเขาเองทำหน้าที่อย่างหนักหน่วงเพื่อเผยแพร่ด้วยเช่นกัน คือ "เราต้องอยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีและสันติ" และเขาก็ได้ทราบอีกว่า Buddy Bears ดำเนินการร่วมสมทบทุนเพื่อการกุศล เฉินหลงสนใจใน Buddy Bears มากและร่วมเป็นผู้ดำเนินการประสานนำวง United Circle of Buddy Bears สู่ฮ่องกงเมื่อปี 2004
เกียรติประวัติและภาพลักษณ์[แก้]
Chan's star on the Avenue of Stars, Hong Kong
ด้านเกียรติประวัติ เฉินหลงได้รับรางวัลมาแล้วทั่วโลก โดยเขาได้รับรางวัล Innovator Award ในเวที American Choreography Awards ในปี 2002 , รางวัล Lifetime Achievement Award เวที Asia-Pacific Film Festival ในปี 1993 MTV Movie Award ปี 1995 และ Taurus Honorary Award ปี 2002 และอื่นๆอีกมากมาย
และเฉินหลงเป็นดาราคนที่ 2,205 ที่ได้มาประทับฝ่ามือไว้เป็นเกียรติประวัติที่ Star on the Walk of Fame และ The Avenue of Stars ที่ฮ่องกง
ด้านภาพลักษณ์ วง Ash's แต่งเพลง "Kung Fu" โดยใช้เฉินหลงในหนัง Rumble In The Bronx (1995) ไปอ้างอิงในเนื้อเพลงและได้ใช้เป็นเพลงเครดิตตอนท้ายของหนังในเรื่องนี้ของเวอร์ชันอเมริกา และ "Jackie Chan" ของวง Frank Chickens
และเฉินหลงยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวการ์ตูนตัวหนึ่งใน ดราก้อนบอล, ตัวละคร Lei Wulong ใน Tekken และท่าทางของตัวละคร Hitmonchan ของ โปเกมอน รวมทั้งเป็นพรีเซ็นเตอร์ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่ดีมายาวนาน และมิตซูบิชิยังมอบรถเพื่อใช้ในการถ่ายทำหนังของเขามาโดยตลอด นอกจากนี้ เฉินหลง ยังเคยรับบทเป็น ซาเอบะ เรียว และ ชุนลีในภาพยนตร์เรื่อง ซิตี้ฮันเตอร์ (CITY HUNTER) มาแล้วด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่คนไทยเรียกว่าเฉินหลง[แก้]
จริงๆแล้วถ้าจะออกเสียงตามที่ประเทศจีนเรียกชื่อจริงๆจะต้องเรียกว่า "เฉิงหลง" ที่เรียกกันว่า "เฉินหลง" นั้น ไม่ได้มีในภาษาจีน แต่เพราะคนไทยใช้ชื่อสองอันของเฉินหลง คือ ชื่อจริง Chan Kong-Sang(เฉินก่างเซิง) ผสมกับ Sing Lung (ซิงหลง) จึงออกมาเป็น เฉินหลง
แต่ถือว่าไม่มีผลต่อความเข้าใจมากนักเพราะมีการออกเสียงสำเนียงที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตอนที่เฉินหลงมาเมืองไทย เขาก็เข้าใจว่าคนไทยเรียกเขาว่า เฉิงหลง
ผลงานภาพยนตร์[แก้]
ดูบทความหลักที่: ผลงานด้านภาพยนตร์ของเฉินหลง
อ้างอิง[แก้]
กระโดดขึ้น ↑ http://www.manager.co.th/drama/ViewNews.aspx?NewsID=9550000154597
กระโดดขึ้น ↑ http://www.kornang.com/news-other/7.html
กระโดดขึ้น ↑ Gus Leous (4 March 2003). "Jackie Chan: A short biography!". Newsfinder.org. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
กระโดดขึ้น ↑ "Famous Buddhists, Famous Adherents of Buddhism". Adherents.com. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
กระโดดขึ้น ↑ "Jackie visits the University of Cambodia". jackiechan.com. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
กระโดดขึ้น ↑ "Press Release". Phnom: University of Cambodia. 10 November 2009. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
หนังสือ a-day ฉบับ Jackie Chan Live in Thailand! 33 ฉบับเดือนพฤษภาคม 2003
วิดีโอสารคดีชุด Jackie Chan : My Story ของบริษัท ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล
รวิกานต์, เฉินหลง คอลัมน์ ฮอลลีวู้ดสตาร์, ข่าวสด
หนังสือ Starpic ฉบับ The Forbidden Kingdom 723 1st MARCH 2008
สถานีย่อย:ประเทศจีน
สถานีย่อย:ภาพยนตร์
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ:
เฉินหลง
วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ เฉินหลง(จีน)
วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ เฉินหลง(อังกฤษ)
เว็บไซต์เฉินหลงอย่างเป็นทางการ
เว็บอย่างเกี่ยวกับหนังเอเชีย
เว็บไซต์ข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวกับเฉินหลง
เว็บไซต์แฟนคลับเฉินหลงสำหรับเด็ก
เว็บวิจารณ์หนังเฉินหลงของ Rotten Tomatoes
การควบคุมรายการหลักฐาน
WorldCat VIAF: 116650054 LCCN: no96039667 GND: 120593955
หมวดหมู่: บทความที่มีข้อความภาษาจีนตัวย่อบทความที่มีข้อความภาษาจีนตัวเต็มบุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2497บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เฉินหลงนักแสดงจีนนักแสดงฮ่องกงนักร้องฮ่องกงผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ผู้ชนะรางวัลม้าทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมสตันท์แมนผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอ็มบีอีนักแสดงภาพยนตร์ฮ่องกงนักร้องชายชาวฮ่องกงนักแสดงชายเชื้อสายจีน
[ปิด]
รายการเลือกการนำทาง
ไม่ได้ล็อกอินพูดคุยเรื่องที่เขียนสร้างบัญชีล็อกอินบทความอภิปรายเนื้อหาแก้ไขประวัติ
หน้าหลัก
ถามคำถาม
บทความคัดสรร
บทความคุณภาพ
เหตุการณ์ปัจจุบัน
สุ่มบทความ
มีส่วนร่วม
เกี่ยวกับวิกิพีเดีย
ศาลาประชาคม
ปรับปรุงล่าสุด
ติดต่อวิกิพีเดีย
บริจาคให้วิกิพีเดีย
วิธีใช้
เครื่องมือ
หน้าที่ลิงก์มา
การปรับปรุงที่เกี่ยวโยง
อัปโหลดไฟล์
หน้าพิเศษ
ลิงก์ถาวร
สารสนเทศหน้า
Wikidata item
อ้างอิงบทความนี้
พิมพ์/ส่งออก
สร้างหนังสือ
ดาวน์โหลดเป็น PDF
รุ่นพร้อมพิมพ์
ในโครงการอื่น
Wikimedia Commons
ภาษาอื่น
Aragonés
العربية
Azərbaycanca
Bikol Central
Беларуская
Беларуская (тарашкевіца)
Български
বাংলা
བོད་ཡིག
Bosanski
Català
Mìng-dĕ̤ng-ngṳ̄
کوردیی ناوەندی
Čeština
Cymraeg
Dansk
Deutsch
Ελληνικά
English
Esperanto
Español
Eesti
Euskara
فارسی
Suomi
Français
Gaeilge
Galego
客家語/Hak-kâ-ngî
עברית
हिन्दी
Hrvatski
Magyar
Հայերեն
Bahasa Indonesia
Ido
Íslenska
Italiano
日本語
Basa Jawa
ქართული
Qaraqalpaqsha
Қазақша
ភាសាខ្មែរ
ಕನ್ನಡ
한국어
Кыргызча
Latina
Lëtzebuergesch
ລາວ
Lietuvių
Latviešu
मैथिली
Malagasy
Македонски
മലയാളം
Монгол
Bahasa Melayu
မြန်မာဘာသာ
नेपाली
Nederlands
Norsk bokmål
Occitan
Ирон
ਪੰਜਾਬੀ
Kapampangan
Polski
پنجابی
Português
Română
Русский
Scots
Srpskohrvatski / српскохрватски
Simple English
Slovenčina
Shqip
Српски / srpski
Sranantongo
Basa Sunda
Svenska
தமிழ்
తెలుగు
Türkçe
ئۇيغۇرچە / Uyghurche
Українська
اردو
Tiếng Việt
Winaray
მარგალური
中文
Bân-lâm-gú
粵語
แก้ไขลิงก์
หน้านี้แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เวลา 17:18 น.
อนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน และอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ดูรายละเอียดที่ ข้อกำหนดการใช้งาน
Wikipedia® เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงผลกำไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น